ชิงหมาเถิด (2010)

Photobucket

เรื่องวุ่นๆ ของคน 3 คน แบงค์ (ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ที่หมั่นไส้แกมอิจฉาที่พ่อ (โกวิทย์ วัฒนกุล) ที่ให้ความสำคัญกับหมาหิมะมากกว่าตน เด่น (โก๊ะตี๋) พนักงานระดับล่างที่เพิ่งถูกไล่ออกเนื่องจากชอบแอบหลับในเวลางานและไม่ได้รับเงินชดเชย และฮาร์ต (มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กอัจริยะที่สื่อสารกับผู้คนผ่าน บีบี ที่คิดขโมยหมาเพราะอยากดัง โดยมีเมย์ (ณัฐปภัสร์ ธนาธนมหารัตน์) สัตว์แพทย์อดีตคู่รักของแบงค์ที่ต้องมาร่วมหัวจมท้ายไปกับทั้งสาม ในขณะที่พ่อของแบงค์ก็จ้างมือปืน (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ให้จัดการกับคนขโมยหมาหิมะ ทั้งหมดจึงต้องหาทางจัดการกับเรื่องราวทั้งหมด ก่อนที่จะลุกลามไปมากกว่านี้

ผลงานกำกับเรื่องที่สามของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ ที่เปลี่ยนแนวมาเป็นหนังแอ็คชั่นคอมมิวนิสต์ (หนังบู๊ที่ใช้ทุนไม่สูง) โดยใช้หมาหิมะเป็นสัญลักษณ์ในการเปรียบเทียบค่านิยมของคนไทยที่มักบ้าตามกระแส โดยไม่มีการพิจารณาถึงความเหมาะสม รวมถึงการจิกกัดเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดในสังคมผ่านตัวละครในหนัง แม้หลายคนจะมุ่งประเด็นว่าคุณอ๊อฟทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาโดยแฝงนัยยะทางการเมือง ที่เป็นผลมาจากวาทะที่คุณอ๊อฟพูดบนเวทีนาฎราชเมื่อตอนกลางปี ที่มีการพาดพิงถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง

โดยแท้จริงแล้วชิงหมาเถิดต้องการสื่อให้คนไทยตระหนักและสำรวจตัวเองอย่างละเอียด ผ่านตัวละครหลักที่เป็นเสมือนตัวแทนของคนในสังคม เด่นออกมาเรียกร้องสิทธิของตนที่ไม่ได้รับค่าชดเชยการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของเขาเอง (อู้งาน หลับในเวลางาน) และการที่เขาอยากให้คนเห็นความสำคัญ แต่กลับลืมไปว่าลูกสาวรักและเทิดทูนตัวเขามาโดยตลอด กว่าเขาจะรู้สำนึก มันก็สายเกินไป สำหรับอาร์ตคือผลพลอยได้จากการเลี้ยงลูกแบบผิดลู่ผิดทาง (ตามใจ ติดเกมส์) ทำให้เขามีปัญหาทางการสื่อสารระหว่างบุคคล (พูดจาผ่าน บีบี) เป็นกระจกสะท้อนของวัยรุ่นที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมขณะนี้ ส่วนแบงค์ที่เป็นลูกคนรวย แต่ชอบเรียกร้องความสนใจจากพ่อ เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้เขามองเห็นแต่ตัวเอง โดยลืมที่จะให้ความสำคัญและคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำของตัวแบงค์เอง ในหนังจะเห็นแบงค์พร่ำบอกว่าทุกอย่างเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถรับผิดชอบ หรือช่วยเหลือใครได้แม้กระทั่งตัวของเขาเอง

แม้จะไม่เต็มที่สักเท่าไหร่ และดูจะขาดๆ เกินๆ ไปบ้างในบทหนัง รวมถึงบทพูดบางประโยคที่สื่ออกมาในทำนองเสียดสีต้องการประชดประชัน ก็มีการใส่เข้ามาอย่างอย่างทื่อๆ ไม่มีชั้นเชิงสักเท่าไหร่ แต่ถือว่าเป็นความพยายามในการฉีกแนวหนังไทยและความพยายามที่จะให้ข้อคิดดีๆ กลับคืนสู่ผู้ชมบ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนจะแปลสารแตกต่างกันอย่างไร แต่สิ่งที่น่าคิดตามก็คือ หากคนไทยไม่รู้จักลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และหน้าที่ๆ ที่พึงกระทำ สังคมก็อาจจะเกิดปัญหาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด หากผู้นำประเทศเป็นซะเองแล้วละก็ ผู้ที่เดือดร้อนและต้องมานั่งรับกรรม ก็คือประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ นี่เองที่ต้องมารับเคราะห์กับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ นอกจากเป็นคนเลือกคนๆ นั้นขึ้นมาเอง

ใส่ความเห็น