TRON (1982) VS TRON Legacy (2010)

 

TRON ถือกำเนิดขึ้นจากไอเดียของผู้กำกับและมือเขียนบทที่มีจิตนาการล้ำอย่าง สตีเว่น ลิสเบอร์เกอร์ และได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ไฮเทคล้ำสมัยของค่ายดิสนีย์ในยุคสมัยนั้นเลยทีเดียว เพราะ TRON เป็นภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกในการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ฉากจำลองเหมือนจริง และการใช้เอฟเฟ็คท์ไฟเรืองแสง จนมาเป็นงานไลฟ์แอ็คชั่น งาน CG และอนิเมชั่นวาดมือที่เข้ากันได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น รวมถึงความที่มันมีเนื้อหาและเทคโนโลยีที่มาก่อนกาลเวลา ทำให้ TRON ได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับแวดวงภาพยนตร์เลยทีเดียว โดยมี TRON Legacy มาสานต่อเรื่องราวหลังจากนั้น

Photobucket

เควิน ฟิลนน์ (เจฟฟ์ บริดเจส) โปรแกรมเมอร์หนุ่มอนาคตไกลของ ENCOM ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เขาถูก เอ็ด ดิลลิงเจอร์ (เดวิด เวอร์เนอร์) ขโมยเอาผลงานเกมที่เขาคิดทั้งหมดมาเป็นของตน ทำให้เควินถูกไล่ออกและต้องมาเปิดร้านเกมส์อาร์เคด ต่อมาเควินพยายามแฮ็คข้อมูลของ ENCOM เพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยใช้โปรแกรมประตูหลังที่เขาเขียนขึ้นเอง แต่เควินพลาดท่าถูกระบบป้องกันของคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีปัญญาประดิษฐ์ใช้เลเซอร์ยิงใส่และแปลงให้เขาอยู่ในรูปข้อมูลดิจิตอล

ในโลกคอมพิวเตอร์เควินพบกับ ทรอน ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่เขียนโดย อลัน แบรดลีย์ (บรูซ บ็อกซ์ลีทเนอร์) และ โยริ ซึ่งเป็นโปรแกรมของลอร่าอดีตแฟนเก่า (ซินดี มอร์แกน) เควินพยายามหาทางออกจากระบบด้วยความช่วยเหลือของทรอนและโยริ เขาต้องต่อสู้กับ ซาร์ค โปรแกรมของดิลลิงเจอร์ในเกมที่เขาเป็นคนเขียนขึ้นในด่านสุดท้าย ซึ่งเควินเป็นผู้ชนะ และสามารถเปิดโปงดิลลิงเจอร์และก้าวขึ้นบริหาร ENCOM แทน อย่างไรก็ตามเควินยังคงแอบกลับไปเยือนโลกคอมพิวเตอร์เป็นครั้งคราว จากห้องแล๊ปที่ซ่อนอยู่ในอาร์เคดของเขาเอง ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของ TRON Legacy

 

Photobucket

กว่า 20 ปีแล้วที่เควิน ฟลินน์กลายเป็นบุคคลสาปสูญ แซม ฟลินน์ (แกร์เรท เฮดสันต์) ที่เติบโตขึ้นภายใต้การดูแลของอลัน ยังคาใจและรับไม่ได้กับการที่พ่อหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จนวันหนึ่งอลันได้รับข้อความทางเพจเจอร์จากอาร์เคดที่ปิดไปกว่า 20 ปี ทำให้แซมต้องไปที่อาร์เคดที่ว่าอีกครั้งเพื่อค้นหาความจริง ที่นั้นเขาถูกดูดเข้าไปในโลกคอมพิวเตอร์ แซมได้รับการช่วยเหลือจากสาวลึกลับนาม ควอร่า (โอลิเวีย ไวลด์) แซมพบว่าเควินถูกจองจำอยู่ในโลกแห่งกริดเป็นเวลานานจากคูล  คูลต้องการดิสของเควินในการเดินทางสู่โลกมนุษย์ ทั้งแซมและเควินจึงต้องหาทางออก เพื่อทำการปิดระบบของคลูก่อนที่คลูจะทำให้โลกคอมพิวเตอร์และโลกมนุษย์เป็นโลกเดียวกัน

เมื่อครั้งที่ TRON ออกฉายหนังได้รับคำวิจารณ์ในระดับธรรมดา แม้จะมีการดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน แต่หากเราดูในปีที่หนังเรื่องนี้ฉาย เราจะเข้าใจว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังเทคนิคล้ำอนาคตอย่าง TRON ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ คือการที่หนังเปิดฉายในยุคที่คอมพิวเตอร์เป็นของใหม่ มีคนรู้จักและเข้าใจระบบการทำงานของมันเพียงไม่กี่กลุ่ม ทำให้การเข้าถึงคนทั่วไปเป็นไปได้ยาก รวมถึงเนื้อหาที่เป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้การมีส่วนรวมในตัวละครของผู้ชมถูกจำกัด ทำให้หนังไร้ความมีชีวิตชีวาและจืดชืดไปในทันที แม้การดำเนินเรื่องดำเนินเรื่องที่สนุกสนานและมีสไตล์การนำเสนอที่ไม่เหมือนใครก็ตาม

แม้ TRON จะไม่ทำเงินทำทองมากมายมหาศาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันกลับกลายเป็นหนังไซไฟคัลท์คลาสสิกที่มีคนนิยมชมชอบอยู่เฉพาะกลุ่ม และทวีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทำออกมาเป็นวิดีโอเกม จนสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมป๊อปมากมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินต่างๆ มากมายอีกด้วย และเมื่อนำ TRON กลับมาดูใหม่ เราจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงได้ยืนหยัดอยู่ในกระแสหนังคัลท์ยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยบทสนทนาที่เข้ากับยุคที่คอมพิวเตอร์และระบบดิจิตอล คือสิ่งที่ทุกคนแม้แต่เด็กประถมรู้จักเป็นอย่างดี รวมถึงการจิกกัดสังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยคอมพิวเตอร์จนมนุษย์แทบไม่ต้องทำอะไร นอกจากกดปุ่มออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว

นอกจากความล้ำหน้าในเรื่องของเทคนิคทางด้านภาพและเทคนิคพิเศษแล้ว ทั้ง TRON และ TRON Legacy ยังมีเนื้อหาที่แฝงนัยยะของการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบทุนนิยม (ระหว่างดิลลิงเจอร์และเควิน หรือ ผู้บริการENCOM กับความคิดของอลันในการปล่อยฟรีซอฟแวร์เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้) การท้าทายอำนาจการปกครองสังคมที่ใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ (เควินและคลู หรือ แซมกับผู้บริหาร ENCOM) รวมถึงการต่อสู้ระหว่างความดีและความเลว โดยมีการใช้สัญลักษณ์ในเรื่องของสีเป็นตัวกำหนด อีกทั้งความเชื่อทางศาสนาที่เปรียบเทียบระหว่างผู้ใช้และโปรแกรม แทนความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้า และ มนุษย์ แต่ในภาค Legacy ประเด็นทั้งหลายมีการกล่าวถึงเพียงผิวเผิน โดยเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ (เควิน) กับลูก (แซม) เข้ามาแทน และเสริมในเรื่องของการยอมรับ การกล้ายอมรับและเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น การแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต (ตัวเควิน) และการหลงมัวเมาในอำนาจ (คลูที่เป็นเสมือนด้านมืดของเควินอีกที)

นอกจากนี้การดำเนินเรื่องของ TRON Legacy ยังมีความเป็นเอกเทศ แยกออกจาก TRON ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ผู้ที่ไม่เคยชม TRON ภาคแรก สามารถเข้าใจเรื่องราวโดยการใช้ภาพย้อนอดีตเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสองภาค แต่หากต้องการอรรถรสที่สมบูรณ์ การหา TRON ฉบับปี 1982 มานั่งดูก่อนการเข้าชม TRON Legacy ก็จะทำให้คุณเข้าใจเนื้อเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น และเข้าใจว่าทำไมหนังสองภาคที่ห่างกัน 28 ปี จึงเป็นมรดกข้ามเวลา

ข้อมูลประกอบบางส่วนจาก Starpics ฉบับ 789 ปักษ์หลังประจำเดือนธันวาคม 2553 คอลัมน์ TRON: Legacy หน้า 62-71

The Chronicles of Narnia: The Voyage of the Dawn Treader (2010)

Photobucket

ระหว่างทีปีเตอร์อยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย และซูซานพักผ่อนวันหยุดอยู่ที่อเมริกา ทั้งลูซี่ และเอ๊ดมันต์ต้องฝืนใจอยู่ร่วมบ้านกับญาติผู้น้องผู้แสนน่ารำคาญอย่าง ยูซดาส ระหว่างที่ทั้งสามโต้เถียงกันอยู่ภายในห้องนอน ทั้งหมดเดินทางข้ามภพสู่ดินแดนนาร์เนีย ผ่านทางภาพวาดเรือ ดอว์น เทรดเดอร์ ทั้งสามได้พบกับเจ้าชายแคสเปี้ยนซึ่งปกครองอาณาจักรนาร์เนีย และเหล่าลูกเรือที่อยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อค้นหาลอรด์แห่งเทลมาร์ทั้ง 7 ผู้สูญหาย ทั้งหมดเดินทางไปยังเกาะทั้ง 5 และได้เผชิญอันตรายและความท้าทาย โดยเฉพาะสิ่งยั่วยวนที่อยู่ใต้จิตสำนึกของแต่ละคน ตามคำบอกเล่าของผู้วิเศษ โคเรียอคิน พวกเขาจะต้องทำลายเวทย์มนตร์อันชั่วร้าย โดยการนำดาบศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 เล่ม มารวมกันบนโต๊ะอาหารของราชสีห์อัสลาน ก่อนที่หมอกร้ายสีเขียวและสิ่งชั่วร้ายจะทำลายนาร์เนียจนพินาศ

หลังจากภาคที่แล้วไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ แม้จะทำเงินไปทั่วโลกว่า 400 ล้านก็ตาม (ทุนสร้าง 200 กว่าล้าน) ทำให้ดีสนีย์ซึ่งร่วมออกทุนสร้างและ จัดจำหน่ายไม่ปลื้ม ทำให้ภาค The Voyage of the Dawn Treader ได้เทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟ็อกซ์ มารับหน้าแทนพร้อมลดทุนสร้างลงเหลือเพียง 100 กว่าล้านเหมือนภาคแรก พร้อมกับได้ไมเคิล แอปต์ (The World Is Not Enough, Enough, Gorilla In The Mist) โดยคาดหวังว่า หนังน่าจะเปิดตัวได้ไม่น้อยหน้าภาคแรก แต่ชะรอยจะไม่เป็นอย่างที่คิด

หนังอาจจะดูสนุกกว่าภาค Prince Caspian ที่ดุดันและหม่นกว่า (แต่เนื้อเรื่องค่อนข้างอืด) ทำให้ในภาคนี้เนื้อหาค่อนข้างรวบรัด และเดินเรื่องเร็วพร้อมๆ กับใส่ฉากแอคชั่นเอาใจคอหนังเข้ามาตลอดเวลา แต่นั้นก็ไม่ช่วยทำให้ภาคนี้ ที่เนื้อเรื่องไม่ค่อยเดินหน้าไปไหนเท่าที่ควร ทำให้บางช่วงค่อนข้างน่าเบื่อเล็กน้อย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าดูสนุกกว่าภาคที่แล้ว อีกทั้งเทคนิคต่างๆ ก็ดูดีขึ้นและสวยงามกว่าภาคที่แล้ว ถือเป็นหนังที่ดูได้ไม่เสียดายเงิน แต่ก็ไม่มีอะไรให้จดจำมากนัก

กะปิลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว (2010)

Photobucket

ต๋อง (ริชาร์ด เกียนี่) เป็นเด็กกำพร้าอาศัยอยู่กับลุงมิ่ง (เทพ โพธิ์งาม) ที่มีอาชีพเก็บมะพร้าวขาย กับลิงจอมแสบ กะปิ (ไข่เล็ก) เมื่อลุงมิ่งเสียชีวิตกะทันหัน ทิ้งให้ต๋องและกะปิต้องอยู่กันตามลำพัง โดยมีสวนมะพร้าวและที่ดินสวยติดทะเลทิ้งไว้ให้ และมีพี่หงษ์ (ภาวิณี วิริยะชัยกิจ) สัตวแพทย์สาว และกานต์แฟนหนุ่ม (ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์) เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน รวมถึงพี่แมว (ตุ๊กกี้ สุดารัตน์) นางพยาบาลประจำอนามัย คอยช่วยเหลือดูแล แต่เมื่อผู้ใหญ่จั๊บผู้มีอิทธิพลของหมู่บ้านทิวมะพร้าวพยายามหาทางเข้ามายึดผืนดินของลุงมิ่ง เพื่อนำมาให้นายทุนใช้สร้างกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ต๋องและกะปิจึงต้องร่วมมือกัน เขาจะต้องฝึกกะปิลงแข่งปีนเก็บลูกมะพร้าวกับเก่ง (ปดลเดช กมลาศัยกุล) ลูกชายผู้ใหญ่บ้านและลิงเก็บมะพร้าวฝีมือขั้นเทพจากต่างถิ่น โดยมีบ้านและที่ดินของลุงมิ่งเป็นเดิมพัน แล้วต๋องจะรักษาที่ดินของลุงมิ่งได้หรือไม่ เพราะความไม่ลงรอยระหว่างต๋องและกะปิเข้าขั้นน่าเป็นห่วง การฝึกฝนจึงไม่ง่ายอย่างที่คิดเอาไว้

กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว เป็นฝีมือการกำกับหนังเรื่องแรกของผู้กำกับ กังฟู หรือ นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ เจ้าของพล็อตเรื่อง ‘กะปิ’ ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 15 เรื่องสุดท้าย (จาก 900 กว่าเรื่อง) ที่ได้ เข้ารอบในโครงการไทยแลนด์ สคริป โปรเจ็กต์ ครั้งที่ 1 แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้จะไม่มี ปัญหา นั้นก็คือบทที่พัฒนาจากพล็อตขนาดสั้นให้เป็นหนังขนาดยาว ทำให้เนื้อหาตอนกลางไม่มีที่ท่าว่า จะไปไหนไกล นอกจากการใส่มุขตลกเข้ามาเป็นช่วงๆ ก่อนจะรวบรัดการแข่งขันเก็บลูกมะพร้าวในตอนจบ แบบห้วนๆ รวมถึงการตัวละครบางตัวอย่างกานต์และหงษ์ ที่แทบไม่มีความสำคัญต่อเรื่องราว นอกจากให้หนังดูมีอะไรทีโรแมนติกเพิ่มเข้ามาเท่านั้น ในขณะที่ดาราคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นป๋าเทพ หรือน้องริชาร์ดที่เอาตัวรอดไปได้แบบผ่านๆ ที่เด่นก็คงหนีไม่พ้นไข่เล็ก ลิงจ๋อตัวเอกของเรื่องที่ใช้ความแก่นและการทำหน้าทะเล้นมาเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู เรียกได้ว่าลิงแสดงได้ดีกว่าดาราบางคนซะด้วยซ้ำ บวกกับความเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่ประสบการ์ณและชั่วโมงบินยังไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถคุมทิศทางของหนังให้ออกมามีเอกภาพเท่าที่ควร ทำให้บางช่วงของหนังดู ค่อนข้างสะเปะสะปะไม่เข้ากับเนื้อหาที่ต้องการสื่อออกมาสักเท่าไหร่ รวมถึงประเด็นในหนังที่เปิดไว้แต่ไม่ได้สานต่อ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในการฮุบที่ดินของลุงมิ่ง ความกระตือรือล้นในการพยายามสร้างกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าของกรมที่ดินประจำจังหวัดและนายทุน การกลืนวิถีชีวิตชาวบ้านของระบบนายทุน ความกดดันของเด็กตัวเล็กๆ ที่ต้องแบกรับบางอย่างที่เหลือบ่ากว่าแรง และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ

แม้จะดูอิหลักอิเหลือในการนำเสนอ รวมถึงบทหนังที่ยังไม่ลงตัวมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามในการสร้างความแตกต่างในตลาดหนังไทย ที่เต็มไปด้วย หนังรักดาษๆ หนังตลกฝืดๆ และหนังผีแนวเดิมๆ นอกจากนี้ กะปิ ยังถือได้ว่าเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงและดูได้พอเพลินๆ  เหมาะสำหรับการพาครอบครัวไปดู เพื่อเป็นการเปลี่ยนรสชาติ เผื่อใครบางคนที่กำลังมองหาหนังดูเพลินๆ และกำลังเบื่อแฮรี่ฟีเวอร์ในขณะนี้