ฝนตกขึ้นฟ้า (2011)

Photobucket

ตุล (นพชัย ชัยนาม) เป็นอดีตนายตำรวจหนุ่มมือสะอาด อนาคตไกล แต่วันหนึ่งเขาถูกบังคับให้ทิ้งคดียาเสพติด คดีใหญ่ที่สุดคดีหนึ่ง เพราะจำเลยในคดีนั้น คือผู้มีอิทธิพลเหนือกฏหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาพบว่ามีองค์ลับถูกตั้งขึ้นมา เพื่อเก็บมารสังคมที่กฏหมายทำอะไรไม่ได้ เช่น พวกนักการเมืองคอรัปชั่น พ่อค้ายาเสพติดในรูปแบบของนักธุรกิจ หรือพวกร่ำรวยจากการค้าประเวณี และผู้มีอิทธิพลเหนือกฏหมายทั้งหลาย มันทำให้เขาเดินเข้าไปในวังวนนี้ และยอมรับงานเป็นมือปืนในที่สุด

งานชิ้นล่าสุด ตุล พลาดท่าถูกยิงที่ศีรษะ เขารอดตายหวุดหวิดแต่ก็นอนโคม่าอยู่ร่วม 3 เดือน เมื่อฟื้นขึ้นมา ตุล เห็นภาพทุกอย่างกลับหัว และถึงแม้ว่าเขาจะพักฟื้นจนร่างกายสมบูรณ์แล้ว สายตาของเขาก็ยังเห็นภาพกลับหัวอยู่เช่นเดิม ตุลจึงตัดสินใจลาออกจากองค์กรลับแห่งนั้น เขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะวางปืนอำลาอดีต กลับไปมีชีวิตใหม่ที่เรียบง่ายและสงบสุข แต่กรรมที่เขาทำไว้ในอดีตจะปล่อยให้เขาหลุดจากบ่วงของมันได้ง่ายๆ จริงหรือ ความชอบธรรมที่เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่ามีส่วนสร้างมันขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วมันเป็นความชอบธรรมจริงหรือ และสมณเพศที่ตุลตัดสินใจเข้าไปใช้ชีวิตอยู่นั้น จะสามารถให้ความสงบร่มเย็น กับคนที่ยังไม่ได้รับการอโหสิกรรมอย่างเขา

ฝนตกขึ้นฟ้า ผลงานกำกับเรื่องที่ 8 ของ เป็นเอก รัตนเรือง เขียนบทโดยนักเขียนซีไร์ท วินทร์ เลียววาริน อีกทั้งยังเป็นหนังในสไตล์แอคชั่นนัวร์ที่ไม่ค่อยเห็นในบ้านเรา (เท่าที่จำได้ก็คงย้อนกลับไปในปี 2534 กับ กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน ของ มานพ อุดมเดช) นอกจากนั้นหนังยังได้รับรางวัลทุนไทยเข้มแข็งด้วยงบประมาณ 18 ล้านบาท และได้รับเงินทุนสนับสนุนการผลิตจากบริษัทโอสถสภา รวมถึงได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการ Tokyo Project Gathering อีกด้วย

หนังดำเนินตัดสลับเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่เรียงลำดับเวลา หากไม่ตั้งใจหรือจับสังเกตุไม่ได้ก็อาจจะงงว่าทำไมพระเอกติดคุกอยู่ แล้วตัดมาอีกฉากออกมาอยู่ข้างนอก พอตัดมาอีกฉากอยู่ในคุก หนังดำเนินเรื่องอย่างกระชับ ไม่มีส่วนไหนที่ดูยืดเยื้อหรือปราศจากเหตุผล ทุกการกระทำมีที่มาและทีไป หนังมีความโดดเด่นในส่วนของงานถ่ายภาพ ความกดดัน การจัดแสงที่เน้นเงามืด แม้ในเวลากลางวันตามลักษณะของหนังฟิลม์นัวร์ บทพูดที่กระชับและไม่ประดิดมากมาย นักแสดงทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี แม้บางคนอาจจะมีบทบาทน้อยก็ตามที ตัวละครทุกตัวถูกสร้างและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

หนังแฝงความคิดหรือมุมมองของความยุติธรรมผ่านตัวละครที่ชื่อตุล ไม่ว่าจะเป็นการมองในตอนที่เป็นตำรวจ ตอนที่เป็นคนคุก และตอนที่ฟื้นจากอาการโคม่าแต่มองภาพทุกอย่างกลับหัว ความรู้สักกระอักกระอ่วนใจของตุลที่ต้องลงมือสังการกาฝากสังคมอย่างนักการเมืองหรือนักธุรกิจเลวๆ ความเกรงกลัวต่อบาปที่ตนเองก่อเอาไว้ แม้ในยามเป็นพระชีวิตก็ยังคงมีมารมาผจญ หาความสงบสุขไม่ได้ แม้ในบทสรุปตอนท้ายอาจจะไม่ผิดไปจากการคาดเดาของผู้ชม แต่นั้นก็เป็นบทสรุปที่น่าจะลงตัวที่สุดแล้ว

Heat (1995)

Photobucket

 

เรื่องราวของ เนล แมคคอลลี่ย์ (โรเบิร์ต เดอ เนโร) หัวหน้าแก๊งค์มาเฟีย กับลูกสมุนที่มีฝีมือระดับพระกาฬ กับงานปล้นรถขนเงินมหาศาลล่าสุด ที่ตกเป็นข่าวดังไปทั่วแอล เอ ทำให้เรื่องร้อนถึง นายตำรวจมือหนึ่งที่ชื่อ วินเซนต์ ฮานนา (อัล ปาชิโน) ต้องเข้าคุมคดีนี้ ขณะที่เนลเองก็วางแผนที่จะปล้นครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต และจะวางมือจากงานสกปรกนี้ทันที ซึ่งวินเซนต์กำลังตามกลิ่นของเนลและพวกเข้าใกล้มาทุกขณะ และต้องการรู้เป้าหมายต่อไปของแก๊งค์นี้ให้ได้ เมื่อสองสุดยอดฝือคนละขั้วต้องมาพบกันในสถานการณ์ ที่ยากลำบาก เหตุการณ์จะลงเอยอย่างไร

Heat เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับโดย ไมเคิล มานน์ ที่นำเอานักแสดงแห่งยุคสองคนมาโคจรพบกันในหนังเรื่องเดียวกันนั้นก็คือ อัล ปาชิโน และ โรเบิร์ต เดอ เนโร หลังจากที่ทั้งคู่เคยพบกันมาครั้งหนึ่งแล้วในหนังภาคต่ออันยิ่งใหญ่ The God Father Part 2 แต่อยู่คนละยุคสมัยกัน รวมถึงดาราอีกหลายคนที่กำลังมีชื่อเสียงในยุคนั้นร่วมแสดงมากมาย โดยเฉพาะนาตาลี พอร์ธแมน

หนังอาจจะมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากหนังสไตล์ตำรวจจับผู้ร้ายทั่วไปที่ฮอลลีวูดนิยมสร้างจนเกร่อในช่วงหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ Heat ดูแตกต่างก็คือ การใส่ความเป็นดราม่าและภูมิหลังของตัวละครทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องราวของครอบครัวเบื้อหลังการทำงาน และการสร้างตัวละครอย่างเนลให้ดูมีชีวิตจิตใจมากกว่าการเป็นแค่หัวหน้าโจรกระจอก ซึ่งเดอเนโรสามารถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีผ่านกริยาและท่างทาง รวมถึงน้ำเสียงและแววตา ในขณะที่อัล ปาชิโน แม้บุคลิกจะดูเกรี้ยวกราดและมาดเหมือนอันธพาลมากกว่าจะเป็นแค่ตำรวจ แต่ลึกๆ เป็นคนที่ห่วงใยครอบครัว โดยเฉพาะลูกเลี้ยงอย่างลอเรนที่รับบทโดยนาตาลี พอร์ธแมนที่มีอาการโรควิตกจริต (แสดงคู่โดยไม่เกรงกลัวรัศมีดาราใหญ่อย่างอัล ปาชิโน กลบมิด)

นอกจากนี้บทหนังยังมีการสำรวจจิตใจของตัวละครหลักอย่างเนลและวินเซ็นต์ ที่ทั้งคู่แม้จะอยู่ตรงกันข้าม แต่ก็นับถือและเคารพในความเก๋าของอีกฝ่าย และหากเป็นไปได้ทั้งคู่ก็อยากจะเป็นเพื่อนรู้ใจมากกว่าที่จะต้องมาห่ำหั่นกันตามหน้าที่และบทบาทของแต่ละฝ่าย แม้ Heat จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังแอคชั่น แต่ก็มีฉากยิงกันอยู่เพียงไม่กีฉาก แต่ละฉากก็ชนิดเรียกได้ว่าเอาอยู่ โดยเฉพาะฉากยิงกันสนั่นกลางเมืองหลังจากแผนการปล้นธนาคารของเนลถูกเปิดโปงและหักหลังจากศัตรูเก่า เรียกได้ว่าหลายคนคงจดจำฉากยิงกันสนั่นเมืองนี้ได้ในใจ และถือว่าเป็นหนึ่งในฉากยิงกันที่ดีที่สุดเท่าที่หนังฮอลลีวูดเคยทำมาเลยทีเดียว

The Thing (2011)

Photobucket

 

นักธรณีวิทยา เคต ลอยด์ (แมรี่ อลิซาเบธ วินสเตด) เดินทางมายังพื้นที่อันแสนห่างไกลและโดดเดี่ยว เพื่อทำการสำรวจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ได้ค้นพบสิ่งที่น่าตกตะลึงภายใต้น้ำแข็งของทวีปเอนตาร์คติก นั้นก็คือ ยานอวกาศจากนอกโลก นอกจากนี้พวกเขายังค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนจะตายไปแล้วฝังอยู่ใต้น้ำแข็งไม่ไกลจากจุดที่พบยานอวากาศ แต่แล้วสิ่งที่ทุกคนคิดว่าได้ตายไปแล้วได้กลับคืนชีพขึ้นมา และออกไล่ล่าทุกคนภายในศูนย์วิจัยแห่งนี้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่เหน็บหนาวและพายุหิมะที่โหมกระหน่ำ เคทและคนอื่นๆ ต้องช่วยกันปกป้องตนเองจากมหันตภัยร้ายที่ว่า เพราะนอกจากมันจะออกล่าแล้ว มันยังสามารถลอกเลียนแบบสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่มันสัมผัสโดน ทำให้ทุกคนต้องอยู่ในสภาพหวาดระแวงและไร้ความเชื่อใจกันและกัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและไร้หนทางหลบหนีอย่างสิ้นเชิง

The Thing เวอรัชั่น 2011 ไม่ได้เป็นการนำ The Thing ฉบับ จอห์น คาร์เพนเตอร์ ในปี 1982 มารีเมคใหม่แต่อย่างไร แต่เป็นการบอกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในศูนย์วิจัยของประเทศนอร์เวย์ หนังเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ มัตไตจ์ส แวน เฮจ์นินเก็น จูเนียร์ ผู้กำกับชาวฮอลแลนด์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโฆษณา มารับหน้าที่กุมบังเหียนหนังเวอร์ชั่นนี้ โดยยังคงดัดแปลงมาจากนวนิยาย Who Goes There? ของ จอห์น ดับบลิว แคมป์เบลล์ จูเนียร์

หนังดำเนินเรื่องภายใต้ความกดดันและความหวาดระแวง รวมถึงการแสดงสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ออกมาอย่างเห็นได้ชัด และมีรอยต่อไปยังเวอร์ชั่น 1982 แต่เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นว่าหนังยังมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร รวมถึงการเลือกดำเนินเรื่องราวคล้ายกับเวอร์ชั่นเก่าของจอห์น คาร์เพนเตอร์ ทำให้หนังดูไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากหนังแนวสัตว์ประหลาดในพื้นที่ปิดตายเรื่องอื่นๆ สักเท่าไหร่ ส่วนนักแสดงก็ไม่ได้มีบทบาทที่จะต้องให้ลุ้นหรืออะไรมากมาย นอกจากเดาว่าใครจะเป็นรายต่อไป ในส่วนของเทคนิคการสร้างอาจจะดูดีกว่า โดยเฉพาะเอฟเฟ็กต์ของตัวสัตว์ประหลาด แต่นั้นก็ทำให้หนังขาดความดิบอย่างที่เวอร์ชั่น 1982 เคยให้ไว้ ถือเป็นหนังดูสนุกเรื่องหนึ่งแต่ไม่มีอะไรใหม่เท่าไหร่นัก

The Bridges of Madison County (1995)

Photobucket

ในช่วงวันหยุดประจำฤดูร้อนของปีหนึ่ง ฟรานเชสกา จอห์นสัน (เมอริล สตีฟ) แม่บ้านลูกสองชาวอิตาเลียนที่ย้ายสำมะโนครัวตามสามีมาทำไร่อยู่ที่ไอโอวา เมื่อสามีและลูกของเธอต้องออกเดินทางไปต่างเมืองเป็นเวลาสี่วันช่วงเวลาสี่วันนี้ที่เธอต้องอยู่บ้านเพียงลำพังนี้ กลายเป็นสี่วันที่จะมีความหมายกับเธอไปตลอดตราบชั่วชีวิต เมื่อในเช้าวันหนึ่งเธอได้พบกับ โรเบิร์ต คิตเคท (คลิ้นต์ อีสวู๊ด) ช่างภาพจากนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟฟิกที่เดินทางมาบันทึกและเขียนบทความเกี่ยวกับ สะพานโรสแมน ซึ่งเป็นสะพานคู่เมือง เมดิสัน เคาน์ตี เมื่อทั้งสองได้พบกันครั้งแรก ความประทับในอีกฝ่ายต่างก็เกิดขึ้นกับคนทั้งคู่ และเมื่อเธอพ่ายแพ้ต่อความเหงาในหัวใจ และความน่าเบื่อหน่ายของชีวิตแม่บ้าน การอยากลองค้นหาความแปลกใหม่ และจากความประทับใจที่มีต่อกัน ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นความรัก แต่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะแม่และภรรยา ฟรานเชสกาเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับโรเบิร์ตลง แม้ว่าเขาจะขอให้เธอหนีตามเขา ฟรานเชสก้าเลือกที่จะอยู่ทำหน้าที่แม่ และภรรยาของตนเองให้ดีที่สุด ณ.ชนบทอันเงียบสงบแห่งนั้นต่อไป เธอเลือกที่จะเก็บความรักอันบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเธอกับเค้าไว้เพียงในความทรงจำ จวบจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งลมหายใจของชีวิต

หนังสร้างจากนิยายระดับ เบสเซลเลอร์ ชื่อเดียวกันของ โรเบิร์ต เจมส์ วอลเลอร์ โดย คลิ๊น อีสต์วู๊ด รับหน้าที่กำกับและแสดงนำ หนังได้รับคำชมในแง่ของการซื่อตรงต่อนวนิยาย โดยมีการดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเหมาะสม หนังทำรายได้อย่างงดงามและได้รับคำชมจากนักวิจารณ์หลายสถาบัน รวมถึงการทำให้เมอริล สตีฟได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงดารานำหญิงบนเวทีออสการ์อีกด้วย

หนังดำเนินเหตุการณ์กินช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยเน้นไปที่สี่วันในความทรงจำของฟรานเซสก้าผ่านสมุดบันทึกที่ลูกๆ ของเธอเปิดอ่าน หลังจากได้ยินคำขอครั้งสุดท้ายในพินัยกรรมของเธอ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดไม่เคยมีใครได้รับรู้ ในตอนแรกลูกทั้งสองของเธอไม่สามารถรับได้ที่แม่ของตนเองมีชู้ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป ทั้งหมดก็เริ่มเข้าใจและยินดีทำตามคำขอสุดท้ายของฟรานเซสก้า นอกจากนั้นเรื่องราวความรักของเธอยังช่วยทำให้ชีวิตครอบครัวของลูกๆ ทั้งสอง ที่กำลังง่อนแง่นกลับมามั่นคงเหมือนเดิม หนังโดดเด่นในแง่ของงานถ่ายภาพที่เก็บบรรยากาศชนบทของไอโอวาได้อย่างงดงาม แต่ที่เด่นสุดคงหนีไม่พ้นการแสดงของเมอรีล สตีฟ ในบทของแม่บ้านที่ชีวิตต้องมาอยู่ในชนบท ค่อยดูแลลูกๆ และสามี แต่ต้องแอบซ่อนความเบื่อหน่ายและโหยหาความบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไป ฉากที่กินใจที่สุดคือฉากในรถท่ามกลางสายฝนที่ฟรานเซสก้าต้องตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไป (หลายคนอาจจะลุ้นให้เธอหนีไปกับชู้รัก) แต่เธอกลับตัดสินใจที่จะอยู่กับครอบครัวเพราะเห็นแก่ลูกๆ เหมือนกับประโยคที่เธอบอกกับโรเบริ์ตในค่ำคืนหนึ่งว่า

“เมื่อผู้หญิงแต่งงานชีวิตที่กำลังเริ่มต้นใหม่ แต่ในอีกมุมหนึ่งชีวิตของเธอคนนั้นก็จบลงไปแล้ว”

Killer Elite (2011)

Photobucket

อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ แดนนี่ ไบร์ซ (เจสัน สแตแธม) ถูกบีบให้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง เมื่อ ฮันเตอร์ (โรเบริ์ต เดอ เนโร) ผู้ฝึกสอนที่เขารักเหมือนพ่อ ถูกจับไว้เป็นตัวประกันโดย ซี้คอาม แห่งโอมาน เพื่อให้แดนนี่สะสางบัญชีแค้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อดีตทีมหน่วยรบพิเศษ SAS สามคน แต่งานที่เหมือนง่ายก็ต้องสะดุด เมื่อกลุ่มองค์กร เดอะเฟเทอร์ แมน ส่ง สไปค์ (ไคลฟ์ โอเว่น) มาคอยขัดขวาง

Killer Elite เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ แกรี่ แม็คเคนดราย สร้างมาจากเหตุการณ์จริงที่นำมาเขียนเป็นนวนิยายจนโด่งดังยอดขายถล่มทลายในชื่อ The Feather Men โดยท่าน เซอร์ รานุช ฟายนส์ นักเขียนและนักผจญภัยชาวอังกฤษ ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่รวมพลครั้งสำคัญของนักแสดง เจสัน สเตทแธม, ไคลฟ์ โอเว่น, โรเบิร์ต เดอ นิโร จากทีมผู้สร้าง Transporter และ The Bank Job พร้อมด้วยทีมงานเบื้องหลังจาก Terminator Salvation, Die Hard4 และ I Robot ทั้งฉากบู๊แอคชั่นสุดระห่ำ โดยมีฉากหลังอยู่ในยุค 80

หนังดูได้เรื่อยๆ สนุกตามแบบฉบับหนังแอ็คชั่นทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดที่หนังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุค 80 ทำให้ฉากแอ็คชั่นเน้นไปที่ความสมจริงมากกว่าจะเน้นแบบระเบิดตูมตามอย่างหนังแอ็คชั่นในปัจจุบัน หนังมีบรรยากาศหนังแนวสายลับอย่าง Ronin (1998, กำกับโดยผู้กำกับผู้ล่วงลับ จอห์น แฟรงค์เก้นไฮเมอร์) ที่เป็นการรวมกลุ่มของอดีตหน่วยพิเศษที่ได้รับการว่าจ้างในการทำภาระกิจ ถือเป็นการร่วมงานกันระหว่างนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง โรเบริ์ต เดอ เนโร, เจสัน สแตแธม และ ไคลฟ์ โอเว่น ซึ่งเรียกได้ว่าคุ้มค่าตั๋วประมาณหนึ่ง ในส่วนการแสดง เจสัน สแตแธรม และไคลฟ์ โอเว่น มาในมาดเดิมเหมือนหนังแอ็คชั่นเรื่องก่อนๆ ของทั้งคู่ ในขณะที่โรเบริ์ต เดอ เนโร ดูสนุกกับบทที่ได้ ด้วยการเป็นหนังเรื่องแรกของ แกรี่ แม็คเคนดราย หนังอาจจะดูขาดอารมณ์แอ็คชั่นแบบมันส์จนลืมหายใจแต่มีบรรยากาศหนังสายลับยุค 80 อย่างที่ Ronin เคยทำได้ แต่ก็ถือว่า หนังยังดูสนุกไม่น่าเบื่อชวนง่วง เพียงแต่ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ

30 กำลังแจ๋ว (2011)

Photobucket

จ๋า (อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ) สาวเอเจนซี่โฆษณาวัย 30 ที่เกิดมาโชคดีทั้งรูปร่างหน้าตาที่แสนจะแจ่มเจิดจรัสเต็มดีกรี หน้าที่การงานกำลังไปได้สวย เธอมีไลฟ์สไตล์สุดเริ่ดชอบไปปาร์ตี้เฮาส์แฮงเอ้าท์เฮฮากับเพื่อนๆ และมีชีวิตรักสุดเปอร์เฟ็กต์กับ นภ (ปีเตอร์ คอปไดเรนดัล) กัปตันหนุ่มรูปงามที่บ่มความรักกันมาตั้ง7 ปี แต่เมื่อถึงวันเกิดครบรอบ 30 ปีของจ๋า นภขอถอนความสัมพันธ์ที่เคยมีมา โดยต้องการอยู่ห่างกันสักระยะหนึ่ง ในขณะที่เธอกำลังวาดฝันชีวิตคู่ร่วมกันกับเขาในอนาคต ในปีถัดมาเมื่อจ๋าร่วมฉลองวันเกิดกับกลุ่มเพื่อนสนิทของเธอ ปอ (เคน ภูภูมิ พงษ์ภาณุ) หนุ่มน้อยอายุน้อยกว่าจ๋าถึง 7 ปี ก็ได้เข้ามาในชีวิตของจ๋า โดยปอไม่สนใจว่าเธอจะอายุเท่าไหร่ เขาใช้ความอ่อนวัยของตัวเองที่พกความมั่นใจ สดใส ร่าเริง และเปิดเผยของตน ทำให้จ๋าเชื่อใจว่าเธอคือคนพิเศษสำหรับเขาจริงๆ ทำให้จ๋ารู้สึกมีความสุขในหัวใจ โดยมีหนุ่มเซน (นิธิศ วารายานนท์) รุ่นน้องผู้ช่วยจ๋า ก็กำลังตกหลุมรักเธออีกเช่นกัน แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อนภอดีตคนรักกลับมาขอคืนดีกับเธอในวันที่เขาทิ้งเธอไปครบรอบหนึ่งปีพอดี จ๋าจะทำอย่างไร

หลังห่างเหินงานกำกับไปหลายปี (ผลงานเรื่องสุดท้ายคือ ซาไกยูไนเต็ด 2547) และไปทุ่มเทกับงานละครซะเป็นส่วนใหญ่ สมจริง ศรีสภาพ หรือที่รู้จักในนาม คิง ก็กลับมารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์อีกครั้ง โดยคราวนี้ ผู้กำกับคิง ตั้งคำถามกับคนดู โดยเฉพาะบรรดาสาวโสดเวริ์คกิ้ง เกริ์ล ทั้งหลาย ที่อายุเริ่มมีเลข 3 นำหน้าว่า จะทำอย่างไรหากเจอเด็กหนุ่มที่อายุน้อยกว่าเกือบ 10 ปีตามจีบ ซึ่งเนื้อหาละม้ายคล้ายคลึงกับอีกเรื่องก่อนหน้าที่ว่าด้วยสาวโสดวัยเลข 3 เหมือนกัน แต่อารมณ์และโทนของหนังค่อนข้างจะแตกต่างกัน

ในขณะที่อีกเรื่องที่เปิดตัวฉายไปก่อนหน้าจะเน้นอารมณ์ในทางคอมเมดี้ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ 30 กำลังแจ๋ว จะเห็นอารมณ์ดราม่า คอมเมดี้เชิงสถานการณ์มากกว่า คิงประสบความสำเร็จในการดึงเอาความอั้มมาใช้บนเจอได้อย่างคุ้มค่า แม้ดูแล้วจะรู้สึกว่า อั้ม ก็ยังคงเป็น อั้ม ในทุกๆ เรื่องที่เธอแสดง แต่สำหรับ 30 กำลังแจ๋ว เธอดูมีจริตจะก้านที่กำลังพอดี ที่ไม่เยอะหรือน้อยจนเกินไป รวมถึงส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่ช่วยเสริมให้อั้มดูมีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติอย่างมากในหนังเรื่องนี้ ในขณะที่ เคน ภูภูมิ อาจจะด้วยประสบการณ์และชั่วโมงบินที่น้อย ดูจะมีเก้ๆ กังๆ ในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะบทที่ต้องคู่กับอั้ม ทำให้เคมีคู่นี้ดูจะไม่ค่อยแมทซ์กันมากเท่ากับคู่ของ พลอยและเป้ ในหนังที่มีเนื้อหาคล้ายกัน อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ที่ว่านี้คือหนังเรื่องแรกของเขา ถือว่าสอบผ่านได้แบบพอดีๆ ส่วนกลุ่มเพื่อนจ๋า ที่เด่นกว่าใครก็คงเป็น อรอานิชญ์ ในบทป้าอ้วน ที่ขโมยซีนทุกครั้งที่ปรากฎบนจอ แต่น่าเสียดายที่หนังให้ความสำคัญกับ บทของ เซน และ กิ๊ฟ (อารดา อารยวุฒิ) น้อยไปสักหน่อย หากเพิ่มบทให้ตัวละครสองตัวนี้มากขึ้นอีกสักนิด หนังน่าจะสนุกขึ้นกว่าเดิม เพราะแม้หนังจะดูสนุกไปได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่รู้สึกเหมือนยังไม่อิ่มสักเท่าไหร่

Love Affair (1994)

Photobucket

เรื่องราวของความรักระหว่างเทอร์รี่ (แอนเน็ต เบนนิ่ง) และไมค์ (วอเร็น เบ็ตตี้) ที่เจอกันบนเครื่องบินที่ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปซิดนี่ย์ออสเตรเลีย เกิดความรักซึ่งกันและกันแต่ทว่าทั้งสองคนต่างมีคู่หมั้นแล้ว ระหว่างที่เครื่องบินต้องลงฉุกเฉิน และทั้งคู่ไปแวะที่เกาะแห่งหนึ่งในฮาวาย ด้วยต้องการทดสอบความรักที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทั้งสองจึงสัญญากันว่าถ้าไม่แต่งงานกับคู่หมั้น ให้มาเจอกันอีกหกเดือนที่ยอดตึกเอ็มไพสเตทที่เป็นตึกที่สูงที่สุดในนิวยอร์ค แต่ทว่าชะตากรรมกลับต้องการทดสอบทั้งคู่มากกว่านั้น

Love Affair เป็นการรีเมคจากหนังคลาสิกระดับขึ้นหิ้ง An Affair to Remember (1954) นำแสดงโดยแครี่ เกรนท์ และเดเบอร่า คอร์ ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Love Affair ของ เดลเมอร์ เดฟส์ และ โดนัลด์ โอคเด้นท์ สต๊วจ โดยฉบับ 1994 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรายละเอียดบางอย่างให้ร่วมสมัยมากขึ้น แม้จะเป็นการรีเมคจากหนังคลาสิกและได้ดาราคู่ขวัญที่เป็นคู่ชีวิตจริงๆ มาแสดงร่วมกัน แต่หนังกลับล้มเหลวทางด้านรายได้ แม้ว่าจะได้รับคำวิจารณ์ในระดับกลางๆ แต่หากนำมาดูอีกรอบก็จะเห็นว่า หนังพยายามใส่รายละเอียดต่างๆ ให้ตรงกับฉบับนวนิยายมากที่สุด แอนเน็ต เบนนิ่ง สวยที่สุดในหนังทุกเรื่องที่เธอแสดงมา และมีเสน่ห์ทุกครั้งที่ปรากฎบนจอ หนังมีความโรแมนติกในระดับหวานมดขึ้น แต่ด้วยการดำเนินเรื่องที่เอื่อยและไม่มีจุดพีค ทำให้บางครั้งอาจจะน่าเบื่อสำหรับคนที่ไม่ชอบหนังรักโรแมนติกแนวนี้ก็เป็นได้ รวมถึงการปรากฎบนจอหนังครั้งสุดท้ายของ แคเทอรีน แอปเบริ์น ในบท ป้าจินนี่ เจ้าของบ้านพักบนเกาะฮาวาย

15ค่ำเดือน11 (2002)

Photobucket

เรื่องราวของบั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนไทยในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ที่แห่งนี้ กลับมีสิ่งเร้นลับมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นตรงกันทุกปี ในคืนวันออกพรรษา บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลก และยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นพุทธบูชาของพญานาค จริงตามความเชื่อ และ ศรัทธาของชาวอีสาน ยังคงเป็นปริศนาที่ท้าทาย และรอคอยการพิสูจน์มาจนทุกวันนี้

เมื่อกลุ่มพระทางฝั่งประเทศลาว ที่ร่วมกันสร้างปฏิบัติการ บั้งไฟพญานาค ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่คงเรียกได้ว่า เป็นความผิดโดยสุจริต เพื่อคงไว้ซึ่งศรัทธาในพุทธศาสนา เมื่อ คาน เด็กหนุ่มที่ หลวงพ่อโล่ชุบเลี้ยงมาแต่เล็กแต่น้อย เกิดปฏิเสธที่จะร่วมวงในปฏิบัติการในปีนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าโลกที่แท้จริงภายนอกนั้น วิวัฒนาการมันก้าวไกลเกินกว่าที่จะมานั่งหลอกคนแบบนี้ได้ แต่โลกใบที่คานบอกมันเป็นคนละโลกกับโลกของหลวงพ่อ โลกที่ความศรัทธายังคงเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตดำเนินต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้หยุดอยู่แค่ความคิดของคนต่างฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่มันยังลามไปถึงความขัดแย้งระหว่างขอบเขตของการทำสิ่งที่เชื่อว่าเป็นการทำความดีและการหลอกลวง

ผลงานการกำกับของ พี่เก้ง จิระ มะลิกุล (มหาลัยเมืองแร่) ผลงานการสร้างโดย หับ โห้ หิ่น ที่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี ช่วยจัดจำหน่ายและทำการตลาดให้ (ก่อนการรวมตัวเป็น GTH ที่มี ไท เอนเตอร์เท็นเมนต์ มาร่วมด้วย) ที่พูดถึงเรื่องราวความเชื่อของชาวท้องถิ่นในแถบอีสาน เกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งเป็นการเรียกขานลูกไฟประหลาดสีชมพูจำนวนมากที่พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ในคืนวันออกพรรษาซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยลูกไฟนั้นไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง พุ่งขึ้นสูงประมาณ 20-30 เมตร แล้วก็หายไป โดยไม่มีการโค้งลงมา เช่นเดียวกับไฟที่เกิดจากพลุทั่วไป และเกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่แน่นอน ทำให้หนังได้รับการต่อต้านจากชาวหนองคาย เนื่องจากมีการบิดเบือนเรื่องราวของบั้งไฟพญานาค

หนังใช้แนวทางการนำเสนอกึ่งสารคดี โดยมีการสันนิษฐานการเกิดของบั้งไฟพญานาคในรูปแบบต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อแต่โบราณทำนองว่าพญานาคเป็นผู้จุดบั้งไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อองคสัมนาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ หรืออาจจะเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นกุศลโลบายให้ผู้คนนับถือและศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่นับวันจะเริ่มเสื่อมถอยลง

หนังไม่ได้มีการตัดสินหรือชี้ให้เห็นว่า ปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาคนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่หนังต้องการนำเสนอก็คือ ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างความเชื่อแบบโบราณ และความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการนำเสนอในเชิงเปรียบเทียบโดยนัยตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงการรุกคืบเข้ามาของระบบทุนนิยม ที่ทำให้งานประเพณีอันดีงามกลายเป็นธุรกิจไป และแม้ว่าหนังจะไม่มีบทสรุปที่แน่นอนก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่หนังได้บอกเอาไว้ในตอนท้าย ในเนื้อหาของจดหมายที่หลวงพ่อโล่ได้เขียนถึงทุกคนก่อนที่ท่านจะมรณภาพไปนั้น หากคนเรามีความเชื่อและศรัทธาอันแรงกล้า ทุกสิ่งก็ย่อมเป็นไปได้ และชีวิตคนเรานั้นช่างแสนสั้น หากมีโอกาสก็จงรีบทำความดี ก่อนที่ชีวิตที่เคยสว่างไสวจะมอดดับไปเหมือนพลุนั้นเอง