Savages (2012)

Photobucket

เบน (แอรอน จอห์นสัน) นักธุรกิจจากลากูนา บีช ชาวพุทธผู้รักสงบและใจบุญสุนทาน และเพื่อนสนิทของเขา ชอน (ไทเลอร์ คิทส์ช) อดีตนาวิกและทหารรับจ้าง ได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นที่ได้กำไรงาม ด้วยการปลูกดอกฝิ่นพันธุ์ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการพัฒนาขึ้นมา ทั้งคู่มีความรักที่พิเศษสุดให้กับหญิงงาม โอฟิเลีย (เบลก ไลฟ์ลี) เหมือนๆ กันด้วย ชีวิตของพวกเขาในเมืองทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียช่างสมบูรณ์แบบ จนกระทั่งแก๊งค้ายาชาวเม็กซิกันย้ายเข้ามาและเรียกร้องให้ทั้งสามคนเป็นหุ้นส่วนกับเขา เมื่อเอเลนา (ซัลมา ฮาเย็ค) หัวหน้าผู้ไร้ปรานีของแก๊งค้ายาเม็กซิกันและลาโด (เบนนิซิโอ เดล โทโร) ลูกสมุนผู้โหดเหี้ยมของเธอ ประเมินค่าความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนสามคนต่ำไป ภายใต้ความช่วยเหลือแบบจำยอมจากเจ้าหน้าที่ยาเสพติดที่โกงกิน (จอห์น ทราโวลตา) เบนและชอนเริ่มต้นทำสงครามที่ดูราวกับไม่มีหนทางชนะกับแก๊งค้ายา และนี่เองยังเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการและลูกไม้ที่ร้ายกาจขึ้นเรื่อยๆ ในการประชันหน้าความเสี่ยงสูงที่แสนดุเดือด

Savages ภาพยนตร์ทิลเลอร์ดราม่าฝีมือของผู้กำกับเจ้าของสามรางวัลออสการ์ โอลิเวอร์ สโตน (Platoon, Wall Street, Born on the Fourth of July, JFK, Haven and Earth, World Trade Center และ Wall Street: Money Never Sleeps) จากนิยายเบสท์เซลเลอร์แนวอาชญากรรมติดอันดับ 1 ใน 10 หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี 2010 ของ The New York Times โดย ดอน วินสโลว์ ที่ร่วมดัดแปลงนิยายเป็นบทภาพยนตร์ร่วมกับ เชน เซอเรโน (Shaft และ Armageddon) และโอลิเวอร์ สโตน

Savages เป็นภาพยนตร์ที่สโตนกำกับออกมาได้อย่างดิบ เถื่อน และโหดสุดๆ ตามสไตล์ของตัวผู้กำกับ โดยบอกเล่าเรื่องราวในโลกอาชญากรรมของการค้ายา ที่คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า โอลิเวอร์ สโตน ยังคงสไตล์การกำกับเหมือนเดิม ทั้งการย้อมสี การทำสีขาวดำ และการทำให้ภาพมีลักษณะดิบ หยาบ รวมถึงการนำเสนอภาพความรุนแรงชนิดที่เรียกได้ว่า เหี้ยม พอตัว ตัวละครใน Savages ต่างก็มีบุคลิกและคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันไป แต่ละคนทำหน้าที่ได้ดี โดยเฉพาะนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างจอห์น ทราโวลต้า ซัลมา ฮาเย็ค รวมถึง เบนนิซิโอ เดล โทโร Savages อาจจะมีข้อเสียอยู่ตรงที่การดำเนินเรื่องที่เป็นเส้นตรง ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน อีกทั้งการเลือกที่จะจบแบบเอาใจตลาดไปสักหน่อย แต่หากใครคิดถึงผู้กำกับอย่างโอลิเวอร์ สโตนแล้วละก็ ก็คงไม่ผิดหวังกับ Savages แน่นอน

Dredd (2012)

Photobucket

เรื่องราวในโลกอนาคต ณ เมกะซิตี้วัน มหานครแห่งสุดท้ายบนโลกภายหลังการล่มสลายของอารยธรรม ที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 800 ล้านคน และเพื่อเป็นการควบคุมสังคมและฝูงชนหมู่มาก ทำให้ผู้ปกครองสร้างเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่เรียกว่า ตุลาการ ที่มีอำนาจเป็นทั้งคณะลูกขุน ผู้พิพากษา และมือสังหาร พวกเขาคือกฎหมาย และกฎหมายก็คือตุลาการ ตุลาการเดร็ดด์ (คาร์ล เออร์บัน) เป็นตุลาการที่อันตรายที่สุดบนท้องถนน เขาสามารถจัดการกับอาชญากรได้ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ในภารกิจล่าสุดเดร็ดด์ต้องร่วมมือกับ แอนเดอร์สัน (โอลิเวีย เธิร์ลปี้) ตุลาการสาวหน้าใหม่ในการสืบหาสาเหตุการตายของชาย 3 คนในตึก พีททรี ภารกิจที่ดูไม่มีอะไรแต่กลับอันตรายอย่างยิ่งเข้าไปติดอยู่ภายในตึกที่ว่า โดยมี มาม่า (ลีน่า เฮดีย์) หัวหน้าแก็งค์ค้ายาสโลโมที่มีอำนาจที่สุดในโลกใต้ดินคอยควบคุมอยู่

Dredd สร้างจากการ์ตูนแอ็คชั่นฮีโร่ (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1977) จากฝีมือของ จอห์น แวกเนอร์ และ คาร์ลอส เอสเคียรา และเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Judge Dredd ในปี 1995 ที่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน สำหรับเวอร์ชั่น 2012 เป็นการยกเครื่องเรื่องราวใหม่ทั้งหมด จากบทภาพยนตร์ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ (28 Weeks Later, Sunshine, Halo และ 28 Months Later) กำกับภาพยนตร์โดย พีท เทรวิส (Vantage Point)

Dredd เวอร์ชั่น 2012 น่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่มีเนื้อหาและเรื่องราวตรงกับในหนังสือการ์ตูน เพราะมีทั้งความดิบ เถื่อน เท่ห์ และโหดร้าย ซึ่งแตกต่างจากฉบับปี 1995 ที่ดูตลกและมีลักษณะเป็นการ์ตูนมากกว่า สำหรับเวอร์ชั่น 2012 เดร็ดด์ดูจะเป็นตัวละครที่ไม่มีภูมิหลังมากเท่าใดนัก (ในหนังสือการ์ตูนเดร็ดด์เกิดจากการโคลนนิ่งจากดีเอ็นเอของตุลาการฟาร์โก้ หากอยากได้รายละเอียดลองหาเวอร์ชั่น 1995 มาดู) แถมยังสวมหมวกอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า นอกจากน้ำเสียงและอากัปกิริยา และดูเหมือนเครื่องจักสังหารมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากแอนเดอร์สัน ตุลาการฝึกหัดที่ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นเธอถอดหมวกออกตลอดเวลา Dredd 2012 มีจุดเด่นอยู่การใช้ภาพสโลว์โมชั่นให้เอื้อต่อการถ่ายทำในระบบสามมิติ ซึ่งภาพที่ได้ดูมีมิติและสวยงาม อย่างไรก็ตามการดำเนินเรื่องที่ดูเหมือนการเล่นเกมส์ฝ่าด่านต่างๆ มากกว่าภาพยนตร์ ดูเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เนื้อหาของ Dredd 2012 ดูไม่มีที่มาที่ไป และไร้ความทรงจำใดๆ ภายหลังเดินออกจากโรง

Bait 3D (2012)

Photobucket

จอช (ซาเวียร์ แซมมวล) และทีนา (ซานิ วินสัน) เป็นคู่หมั้นที่มีความสุขดี และพวกเขาก็กำลังจะย้ายไปอยู่สิงคโปร์ แต่เมื่อพี่ชายของทีนาและเพื่อนสนิทของจอชต้องมาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่โดนฉลามจู่โจม ซึ่งจอชอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตรอรีให้รอดพ้นจากฉลามได้ จากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ของจอชและทีนาดิ่งลงเหว หนึ่งปีต่อมาเมื่อทีนากลับมาเยือนเมืองแห่งนี้และเจอกับจอชโดยบังเอิญที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอมาพร้อมกับเพื่อนใหม่ สตีเวน (ฉี หยู่หวู) แต่เมื่อมือปืนสองคนพยายามจะใช้อาวุธเข้าปล้นร้าน พร้อมๆ กับการมาของคลื่นสึนามิยักษ์ที่พัดถล่มและพลังทลายทุกสิ่งทุกอย่างจนราบเป็นหน้ากอง แม้จะมีผู้รอดชีวิตหลงเหลืออยู่ แต่พวกเขาก็ต้องพบกับฝูงเพชรฆาตแห่งท้องทะเลที่มากับคลื่นสึนามิที่ว่า พวกเขาจะหาทางเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ทีว่านี้ได้อย่างไร

Bait 3D เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่น-ทริลเลอร์ โดยเป็นผลงานร่วมกันระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ ผลงานการกำกับของ คิมเบล รันเดล (The Jester: TV Series และเป็นอดีตผู้กำกับมือสองจากภาพยนตร์ดังๆ ไม่ว่าจะเป็น The Matrix Reloaded, The Matrix Revolution, I, Robot, Ghost Rider และ Knowing)

Bait 3D เป็นภาพยนตร์แนวฉลามบุกที่นิยมสร้างกันในช่วงระยะหลังนี้ แต่เพิ่มความกิ๋บเก๋ด้วยการที่ฉลามมาพร้อมกับคลื่นสึนามิ โดยตัวละครทั้งหมดถูกจำกัดอยู่ในสถานที่ปิดตาย ที่ต้องแข่งขันกับเวลาในการเอาชีวิตรอด รวมถึงรอดจากการเป็นอาหารมื้อค่ำของฉลาม นักแสดงทั้งหมดโดยส่วนใหญ่เป็นนักแสดงชาวออสซี่ ซึ่งมีผลงานทางซีรียส์โทรทัศน์ซะเป็นส่วนใหญ่ มีที่ค้นหน้าก็คง จูเลียน แมคมาฮอน (ดร. ดูม ในภาพยนตร์ Fantastic Four ทั้งสองภาค) Bait 3D มีการสร้างเทคนิคพิเศษในส่วนของฉลามและคลื่นสึนามิ รวมถึงภาพหายนะหลังคลื่นถล่มชายฝั่ง ซึ่งคุณภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์โอเค (แม้บางฉากจะดูหลอกๆ) ในขณะเดียวกันบทภาพยนตร์มีช่องโหว่และเดินตามสูตรสำเร็จค่อนข้างมาก ทำให้ Bait 3D ดูไม่แตกต่างจากภาพยนตร์แนวนี้สักเท่าไหร่ ส่วนงานด้านภาพสามมิติไม่มีความเห็น เพราะดูจากการโหลดมาทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะเป็นหนทางที่ทำให้คุณสนุกกับ Bait 3D มากกว่าการนั่งดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์

Resident Evil: Retribution (2012)

Photobucket

ไวรัสมรณะที่ชื่อว่าที-ไวรัสของอัมเบรลลา คอร์ปอเรชั่น ยังคงออกทำลายโลก เปลี่ยนประชากรของโลกให้เป็นกองทัพผีดิบกินเนื้อคน อลิซ (มีลลา โจโววิค) ผู้เป็นความหวังเดียวและความหวังสุดท้ายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ได้ตื่นขึ้นที่ใจกลางอาคารปฏิบัติการที่เป็นความลับที่สุดของอัมเบรลลา และได้รับรู้เกี่ยวกับอดีตอันลึกลับของเธอมากขึ้นเมื่อเธอล้วงลึกเข้าไปในตึกแห่งนั้น เมื่อไม่มีที่ปลอดภัยแล้ว อลิซเดินหน้าตามล่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการระเบิดของไวรัส เป็นการไล่ล่าที่พาเธอเดินทางจากโตเกียวสู่นิวยอร์ก, วอชิงตัน ดีซี และมอสโก จนนำไปสู่การไขความลับอันน่าตื่นตะลึงที่ทำให้เธอต้องคิดใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับทุกอย่างที่เธอเคยคิดว่าเป็นจริง ระหว่างนั้น เธอก็ได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตรใหม่และเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย อลิซต้องต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดนานพอที่จะหนีออกจากโลกอันอันตรายที่จวนเจียนจะถูกลืม การนับถอยหลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

Resident Evil: Retribution ถือเป็นตอนที่ 5 ของภาพยนตร์เฟรนชายนส์ที่สร้างจากเกมส์ดังของค่าย CAPCOM โดยยังคงได้ พอล ดับเบิ้ลยู เอส แอนเดอร์สัน มารับหน้าที่กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เหมือนทุกครั้ง โดยยึดบางส่วนของเนื้อหาจากเกมส์ในภาค 4 และ ภาค 5 มาใช้ในการดำเนินเรื่อง ผสมผสานกับโครงเรื่องจากจินตนาการที่คิดขึ้นเอง (ไม่อิงกับเกมส์ในแต่ละภาค) ซึ่งถือว่าเป็นแนวการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ชุด Resident Evil อยู่แล้ว

Resident Evil: Retribution ยังคงวนเวียนอยู่กับการเอาตัวรอดจากซอมบี้ และการไล่ล่าจากอัมเบรลล่า โดยมีส่วนต่อจากภาค Afterlife ในช่วงต้น จากนั้นบทภาพยนตร์ก็นำเนื้อหาที่วางไว้ตั้งแต่ภาคที่แล้วออกอ่าวไปแบบชนิดกู่ไม่กลับ (ยิ่งกว่าเดิม) บทพยายามนำตัวละครที่แฟนติดเหนียวแน่นจากภาคเกมส์มาใส่ไว้ในภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นลีออน สก๊อตต์ เคนเนดี้ (โยฮานน์ เอิร์บ ที่บุคลิกดูแล้วเหมือนซิ่งนักบิดมอเตอร์ไซด์ซะมากกว่า) หรือ เอด้า หว่อง (หลี่ ปิงปิงที่ใกล้เคียงกับตัวละครในเกมส์ เสียแต่เธอไม่เซ็กซี่และเล่นแข็งเป็นบ้า) บทภาพยนตร์สะเปะสะปะ ตัวละครบางตัวสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตาย และมีชีวิตอยู่ในตอนท้ายแบบไม่มีเหตุผล (ก่อนจะตัดทิ้งไปดื้อๆ ในภาคต่อไป) การดำเนินเรื่องเหมือนตัวเรากำลังเล่นเกมส์ผ่าด่านไปเรื่อยๆ พร้อมกับการอัพเกรดอายุหลังจบในแต่ละด่าน ก่อนจะตัดดื้อๆ เพื่อทิ้งไว้เป็นเชื้อในภาคถัดไป หากบ้านเราจะมีภาพยนตร์ที่ไม่มีสิ้นสุดอย่างบ้านผีปอปแล้วละก็ ฮอลลีวูดก็อาจจะมีภาพยนตร์ซอมบี้แบบ Resident Evil มาสู้ก็เป็นได้เหมือนกัน

9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ (2012)

Photobucket

วันหนึ่ง ในขณะที่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตของตัวเองไปตามวิถี ที่มุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ร่างของหญิงสาวในชุดเจ้าสาวได้ร่วงหล่นลงมาจากบนดาดฟ้าของอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำเราไปรู้จักกับ วิภาวี (นิว – ปทิตตา อัธยาตมวิทยา) หญิงสาวสวยผู้ใฝ่ฝันจะได้แต่งงานกับ ก้อง (เจได – เศรษฐศิษฎ์ ลิ้มกษิดิ์เดช) ชายคนรัก ทั้งสองคนรู้จักกันผ่าน นง เพื่อนสนิท ผู้ที่แอบน้อยใจเสมอมากับความด้อยกว่าวิภาวีในทุกทาง แถมนงยังแอบหลงรักก้องอยู่อีกด้วย ในขณะที่ความรักของวิภาวีกับก้องกำลังเป็นไปด้วยดี ทั้งสองวางแผนจะแต่งงานกันเร็ว ๆ นั้น อยู่ๆ วิภาวีก็ทราบข่าวจากนงว่าก้องได้เสียชีวิตแล้วด้วยอุบัติเหตุ ซึ่งนั่นทำให้วิภาวีทำใจไม่ได้ และตัดสินใจฆ่าตัวตายตามคนรักไป การตายของวิภาวีน่าจะเป็นที่สิ้นสุดของทุกอย่าง แต่มันไม่ใช่ เพราะเมื่อความจริงปรากฏว่า แท้จริงแล้ว ก้องยังไม่ตาย และเรื่องราวทั้งหมดคือแผนการหลอกลวงของก้องและนง คนสองคนที่เธอไว้ใจมากที่สุด วิญญาณวิภาวีจึงกลายเป็นวิญญาณเฮี้ยนที่เต็มไปด้วย ความรนทด เสียใจ และความเจ็บปวดของคนหัวใจสลาย มันสั่งสมความอาฆาตแค้น และรอวันที่จะเอาคืน จนกลายเป็นเหตุการณ์สยองขวัญที่เกิดขึ้นกับคน 9 คนแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ เป็นผลงานการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัท แพลน ซี พานิช จำกัดและบริษัท กานจาบ ฟิล์ม จำกัด 9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ ประกอบไปด้วยตอนสั้น 9 ตอน ที่เล่าเรื่องราวสยองขวัญที่เกี่ยวกับความอาฆาตพยาบาทของผู้หญิงคนหนึ่งต่อชายคนรักของเธอ โดยเล่าจากมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งจะนำไปสู่จุดจบของเรื่องราวที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างทั้ง 9 เรื่อง ความยาวเรื่องละ 9 นาที รวมทั้งสิ้น 81 นาที ผ่านการกำกับของผู้กำกับ 12 คน และตากล้อง 9 คน จากบทภาพยนตร์โดย รพีพิมล ไชยเสนะ ภายใต้การควบคุมและอำนวยการสร้างของ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล

9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่มีจุดเด่นตรงการนำเสนอเรื่องราวมุมมองต่างๆ ทั้ง 9 มุมมองภายในเวลา 9 นาที โดยแต่ละมุมมองมีความเกี่ยวเนื่องถึงกันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการที่จะต้องบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้จบลงภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งเท่าที่เห็นถือว่าผู้กำกับทั้ง 12 คน ตีโจทย์และบทในแต่ละตอนได้กระจ่างและชัดเจนเป็นอย่างดี แม้ว่า 9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ จะใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง และมุขสยองขวัญที่ไม่แตกต่างจากภาพยนตร์สยองขวัญทั่วไป แต่มันก็เข้ากับสไตล์การเล่าเรื่อง 9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพโดดเด่นในการสร้างบรรยากาศหลอนๆ ด้วยการใช้ภาพและเสียง (เด่นสุดคือเสียงฮัมเพลง) 9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ ก็มีข้อบกพร่องในบางส่วน โดยเฉพาะการที่ต้องเล่าเรื่องให้จบภายในระยะเวลาจำกัด ทำให้บางซีนดึงอารมณ์ร่วมได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการขึ้นชื่อตอนคั้นระหว่างตอนต่อตอน ทำให้อารมณ์และความต่อเนื่องสะดุดลงในบางครั้ง แต่กระนั้น 9-9-81 บอก-เล่า-9-ศพ ก็ดูเป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำแม้ว่ามันจะเป็นเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็ตามที

The Possession (2012)

Photobucket

ภายหลังที่เอมมิลีหรือเอม (นาตาชา คาลิส) ซื้อกล่องไม้โบราณมาจากร้านขายของเก่า กล่องไม้ที่ภายนอกดูไม่มีพิษสงอะไร แต่ไม่นานมันก็ทำให้ทุกคนรอบข้างเธอต้องกลัว เมื่อเอมมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไปจนน่าขนลุก ทำให้พ่อของเธอ ไคลด์ (เจฟฟรีย์ ดีน มอร์แกน) แม่ของเธอ สเตฟานี่ (เคียร่า เซ็ตวิก) และพี่สาวของเธอฮานาห์ (เมดิสัน ดาเวนพอร์ต) ต้องหาหนทางช่วยเหลือลูกสาวสุดที่รักของพวกเขา จากความช่วยเหลือของ ศจ. เมคเมนนิส (เจย์ บาร์ซัวร์) ทำให้ทั้งสองรับรู้ว่ากล่องไม้โบราณที่เอมซื้อมานั้น แท้จริงมันคือสิ่งชั่วร้ายที่ในภาษาฮิบบรูเรียกว่า ดิ๊บบัค ซึ่งเป็นวิญญาณอันชั่วร้ายที่เข้าสิงร่างมนุษย์และกัดกินดวงวิญญาณของผู้ใดก็ตามที่ครอบครองมันไว้ ทั้งสองจึงต้องหาหนทางช่วยเหลือเอ็มให้พ้นจากวิญญาณร้ายที่ว่าก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

The Possession เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ของผู้กำกับแซม ไรมี่ ที่นั่งแท่นผู้อำนวยการสร้างและให้ โอเล่ บอร์นีดัล ผู้กำกับชาวเดนมาร์คมารับหน้าที่กำกับแทน จากบทภาพยนตร์ฝีมือสองนักเขียนคู่หู จูเลียต สโนวเด้นท์ และ สเตลส์ ไวทส์ (ทั้งคู่มีผลงานการเขียนบทภาพยนตร์ร่วมกันจาก Knowing, Boogeyman และ Poltergeist ฉบับรีเมค) จากบทดั้งเดิมของ เลสลี่ กอนสเติร์น ที่อิงมาจากบทความที่ชื่อ A Jinx in a Box ที่ตีพิมพ์ลงใน LA Times เกี่ยวกับกล่องไม้โบราณที่ถูกซื้อขายในเว็บไซต์อีเบย์ในปี 2004 ที่นำความหายนะมาสู่ผู้ที่เป็นเจ้าของมันแต่ละคน

The Possession ถือเป็นภาพยนตร์แนวไล่ผีที่เดินตามสูตรสำเร็จจากรุ่นพี่อย่าง The Exorcist, The Last Exorcism, The Rite และ The Devil Inside โดยการที่ตัวละครเริ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังจากได้หรือรับสิ่งของแปลกปลอม แต่สิ่งหนึ่งที่ The Possession เน้นมากกว่าการตะบี้ตะบันใส่ฉากน่ากลัวเข้ามาก็คือ ความดราม่าเกี่ยวกับครอบครัวที่แตกแยกหย่าร้างระหว่างไคลด์และสเตฟานี ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบตกหนักอยู่ที่เอมมิลีที่ยังทำใจยอมรับสภาพนี้ไม่ได้ ซึงหากตัดเรื่องราวความน่ากลัวเกี่ยวกับการเข้าสิงออกไปแล้วละก็ The Possession คงเป็นภาพยนตร์แนวดราม่าวิเคราะห์ผลกระทบทางจิตเป็นแน่ ในส่วนของอารมณ์เขย่าขวัญนั้น The Possession สามารถสร้างอารมณ์และความน่ากลัวที่ได้ผลอยู่บ้าง แม้ว่าฉากพิธีกรรมไล่ผีในตอนท้ายที่ออกจะดูหลั่กลั่นและสั้นไปสักนิดก็ตามที